Posted on Leave a comment

“การผ่าตัดเข่า” สิ่งที่ควรทราบ และการปฏิบัติตัว

การผ่าตัดเข่า

ถ้าผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรือจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้ามีความเสียหายรุนแรงขึ้นจะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน การรักษาอาจเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งานของเข่า ยาลดการอักเสบ หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ซึ่งเป็นการผ่าตัดตัดผิวที่เสียหายออกใส่ผิวใหม่ที่เรียบมันซึ่งทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน เพื่อให้เข่ากลับไปใช้งานได้ตามเดิมอีกครั้ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเริ่มมีการผ่าตัดครั้งแรกในปี 1968 หลังจากนั้นการผ่าตัดนี้ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านวัสดุที่ใช้และวิธีการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดให้ผลดีขึ้น

สาเหตุที่การทำงานของเข่าเสียไป

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะข้อเข่าอักเสบ (Arthritis) ที่อาจเกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ (Rheumatoid) และการอักเสบจากอุบัติเหตุ

  1. ข้อเข่าเสื่อม มักเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี เกิดจากการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกที่แข็งและไม่เรียบถูเสียดสีกัน ทำให้เกิดเสียงเวลาขยับเข่า มีอาการปวด และติดขัดเวลางอเข่า
  2. ข้ออักเสบเรื้อรัง ที่พบบ่อย คือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยข้ออักเสบเรื้อรังจะทำให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบหนาตัวขึ้น มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อมากขึ้นทำให้เข่าบวมแดง เมื่อมีการอักเสบนานจะทำให้ส่วนกระดูกถูกทำลายไป
  3. ข้ออักเสบจากอุบัติเหตุ กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากอุบัติเหตุ จากแรงกระแทกที่รุนแรง หรือจากการแตกร้าวของกระดูกและกระ ดูกอ่อน ซึ่งเป็นผลทำให้ผิวข้อเสียไม่เรียบ

การผ่าตัดเข่าเปลี่ยนข้อเทียม 

การรักษาข้อเข่าอักเสบเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งาน ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดและกระแทกที่เข่า เช่น การนั่งยองๆ, คุกเข่า, ขึ้นลงบันได, วิ่ง หรือการยกของหนัก ทานยาเพื่อลดการอักเสบในเข่า การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้เข่ามีการเคลื่อนไหวที่มั่นคง ถ้าการรักษาเหล่านี้ไม่ได้ผล อาจพิจารณาฉีดยาเข่าในข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบและเพื่อเพิ่มการหล่อลื่นในเข่า เช่น ยาพวกสเตอรอยด์ (Steroid) หรือน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมสังเคราะห์ หากยังไม่ได้ผลอาจใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจทำให้ผู้ป่วยลดการเจ็บปวดและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสมควรทำในผู้ป่วย

  1. ปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง
  2. ปวดเข่าเวลาพัก เช่น ปวดเวลานอน
  3. มีการอักเสบบวมแดงของเข่า โดยมีอาการบ่อยและเรื้อรัง
  4. มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน
  5. ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก
  6. ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการใช้งาน ยาทาน หรือการฉีดยาเข้าในเข่าไม่ได้ผล

ส่วนใหญ่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะทำในผู้ป่วยอายุ 60 – 80 ปี การพิจารณาผ่าตัดจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ก่อนการรักษาจำเป็นต้องตรวจ

  1. ประวัติสุขภาพทั้งหมด อาการ ลักษณะการปวดเข่า และความสามารถในการใช้งานของเข่า
  2. ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเข่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า และความแข็งแรงของเอ็นรอบๆ เข่า
  3. X-Ray เพื่อดูพยาธิสภาพ ความเสียหายของเข่า
  4. บางครั้งอาจต้องมีการตรวจเลือด X-Ray พิเศษ หรือตรวจ MRI เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ รอบกระดูก
การผ่าตัดเข่าเปลี่ยนข้อเทียม

ผลการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

มากกว่า 90 เปอร์เซ็นของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ กิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ กีฬาที่มีแรงกระแทกรุนแรงที่ข้อเข่า เช่น การวิ่งหรือกระโดด ซึ่งแรงกระแทกจะทำให้ส่วนที่เป็นพลาสติกเสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้การนั่งคุกเข่า นั่งยองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งส้วมแบบนั่งยองๆ ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด

ชนิดของข้อเข่าเทียม

  1. ชนิดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement) ตัดผิวข้อทั้งส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยมีแผ่นพลาสติกกั้น
  2. ชนิดเปลี่ยนเพียงด้านเดียวของผิวข้อ (Unicompartmental Knee Replacement) โดยเปลี่ยนผิวทั้งด้านต้นขาและกระดูกหน้าแข้งเฉพาะด้านที่มีอาการเสื่อม ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ แผลเล็ก การตัดกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆ น้อย ผลทำให้การเจ็บปวดน้อยลง และกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปกติเร็วขึ้น แต่ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบนี้ คือ เหมาะกับเข่าที่มีพยาธิสภาพน้อยเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของเข่า

ปัญหาสำคัญหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่พบได้บ่อยๆ คือ

การติดเชื้อหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมซึ่งมีโอกาสพบได้ใน 1-2% ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานที่ยาวนาน
ข้อเข่ายึดติดไม่สามารถงอเข่าหรือเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมไปแล้ว นานวันเข้าแม้จะไม่มีการแสดงอาการถึงความเจ็บปวดของข้อเข่า จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ตามที่นัดเพื่อตรวจดูอาการ เพราะอาจจะคิดไปเองว่าไม่เป็นอะไรแล้ว แต่นั่นอาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาใหญ่ที่จะทำให้ข้อเข่านั้นเกิดการติดเชื้อของข้อเข่าเทียมที่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้ เพราะผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมนั้นควรได้รับการตรวจดูอาการตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลหลังผ่าตัด

วิธีการดูแลหลังการผ่าตัด สิ่งที่สำคัญโดยปกติแพทย์ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจดูอาการหลังจากผ่าตัดที่ 1 สัปดาห์ และสัปดาห์ที่ 2 แพทย์จะนัดมาดูแลผ่าตัดว่า มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อหรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์ก็จะนัดอีก 1 เดือน 3 เดือน 6เดือน และ 1 ปี ตามลำดับ จากนั้นทุกๆ 1 ปี แพทย์จะนัดติดตามดูอาการ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มแรก สุดท้ายนี้ ผู้ป่วยที่จะต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม มีข้อควรพิจารณาเพื่อใช้ประกอบในการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยควรเตรียมร่างกายให้พร้อม มีโรคประจำตัวอย่างไรต้องรักษา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่นถ้ามีโรคเบาหวานก็ต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พิจารณาเลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและประการสุดท้ายคือ พิจารณาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและมีประสบการณ์

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

“โรคกระดูกเข่าเสื่อม” สาเหตุและข้อควรรู้

โรคกระดูกเข่าเสื่อม

โรคกระดูกเข่าเสื่อม“เป็นโรคที่พบได้บ่อย ในคนสูงอายุและคนอ้วน มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการปวดทรมาน เดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุด อันตรายร้ายแรงมักเกิดจากการใช้ยาอย่างผิดๆ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

เกิดจากการเสื่อมชำรุดหรือการสึกหรอ ของข้อเข่า ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานมาก การบาดเจ็บ หรือมีแรงกระทบกระแทกต่อข้อมาก (เช่น น้ำหนักมาก เล่นกีฬาหนักๆ) ทำให้กระดูกอ่อนที่บุอยู่ตรงบริเวณผิวข้อต่อสึกหรอ และเกิดกระบวนการซ่อมแซม ทำให้มีปุ่มกระดูกงอกรอบๆ ข้อต่อ ปุ่มกระดูกที่งอกบางส่วน จะหักหลุดเข้าไปในข้อต่อ ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อต่อ และข้อต่อมีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหว

การงอเข่า เช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ การเดินขึ้น_ลงบันได เป็นต้น จะทำให้เกิดแรง กดดันที่ข้อต่อ เป็นเหตุให้ผิวข้อเสื่อมได้เช่นกัน
เมื่อกระดูกเข่าเสื่อม ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่ามีการอักเสบและอ่อนแอร่วมไปด้วย ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าอ่อน (เข่าทรุด) และเมื่อเป็นมากๆก็จะทำให้เกิดอาการขาโก่ง

พฤติกรรมเสี่ยงโรคกระดูกเข่าเสื่อม

ปัจจุบันในกลุ่มวัยทำงานก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูก เพราะเป็นวัยที่ใช้ร่างกายหนัก และพักผ่อนน้อย อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน นั่งทำงานในออฟฟิศ มักนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน หรืออาจจะยกของหนัก ก้ม ๆ เงย ๆ ผิดวิธี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกได้ ถึงแม้อายุจะยังไม่เข้าสู่คนสูงวัยก็ตาม

แม้จะอยู่ในวัยทำงาน แต่หลายคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรค หรือเป็นปัญหาของผู้สูงอายุ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนในวัยทำงานก็สามารถเป็นได้เช่นกัน อาจจะเกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การใช้งานข้อเข่าที่หนักไป อุบัติเหตุต่าง ๆ หรือแม้แต่น้ำหนักตัวของเรา ก็ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ โรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวด บวม ที่ข้อเข่า ได้แก่ ปวดบริเวณข้อเข่าขณะเดิน หรือเดินขึ้นลงบันได ข้อฝืด มีเสียงดังเวลาเคลื่อนของข้อเข่า หรือตึงข้อขณะเคลื่อนไหว เช่นมีอาการหลังตื่นนอน ไม่สามารถขยับข้อเข้าได้ตามปกติ ความสามารถในการใช้งานข้อเข่าลดลง เช่น ไม่สามารถเดินขึ้นลงบันไดได้ ขึ้นลงรถลำบาก หากปล่อยไว้นาน จะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมได้

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสื่อมสภาพของร่างกายก็ย่อมเป็นไปวัย โดยเฉพาะเรื่องของกระดูกที่ไม่ว่าจะเป็นในวัยเด็ก หรือวัยทำงานก็สามารถเกิดขึ้นได้ แล้วนับประสาอะไรกับผู้สูงวัยที่เมื่ออายุมากขึ้นแล้ว จะไม่พบเจอกับปัญหาโรคกระดูก

พฤติกรรมเสี่ยงโรคกระดูกเข่าเสื่อม

กระดูกเข่าเสื่อมเกิดได้จากสาเหตุอะไรบ้าง

กระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทีไม่รุนแรง เช่น ตกเตียง ตกจากเก้าอี้ ลื่นล้มในห้องน้ำ และมักพบว่ามีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย ผู้สูงอายุที่กระดูกหักต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ เพื่อให้กระดูกเคลื่อนกลับเข้าที่และอยู่ในตำแหน่งเดิมจนกว่าจะหายดี โดยแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป ได้แก่ ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เป็นต้น

ข้อเข่าเสื่อม

ภาวะข้อเขาเสื่อมคือเมื่ออายุมากขึ้นหรือมีการใช้ข้อต่าง ๆ มากขึ้น กระบวนการสลายของกระดูกอ่อนจะเกิดมากกว่ากระบวนการสร้าง และเมื่อบวกกับความเสื่อมของสุขภาพ จึงส่งผลให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อมีปริมาณลดลง ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษา โรคก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และเมื่อมีการเคลื่อนไหวก็จะทำให้เกิดการเสียดสีจนสึกกร่อน รู้สึกฝืดที่ข้อเข่า เข่าผิดรูปและทำให้เกิดความเจ็บปวด หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการมีความรุนเแรงยิ่งขึ้น

กระดูกพรุน

คือ โรคที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลง มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูก มีผลทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการกระดูกหักง่ายกว่าปกติ ตำแหน่งที่พบกระดูกหักบ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือโดยเฉพาะตำแหน่งของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังที่พบว่ามีโอกาสหักมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น สำหรับโรคกระดูกพรุนจะไม่พบว่ามีอาการใดๆ เลย เพราะพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติการรับน้ำหนัก กระดูกเปราะหักง่าย ส่วนใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม น้ำเต้าหู้ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย จะช่วยป้องกัน ช่วยชะลอ หรือช่วยลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น การเสื่อมของร่างกายก็มักมีเข้ามามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของกระดูก ที่เห็นได้บ่อย ๆ ก็จะเป็นในเรื่องของอาการปวดหลัง ปวดขา โดยโรคนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่อายุมากขึ้น อันเนื่องมากจากความเสื่อมสภาพของข้อกระดูกสันหลังทรุดตัวลง และไปกดทับเส้นประสาทได้ รวมไปถึงการเกิดของกระดูกงอก หรือหินปูนที่เกิดขึ้น จนทำให้ไปทับเส้นประสาทได้ในที่สุด การรักษาโรคกระดูกทับเส้น แพทย์จะดูแลรักษาตามสภาพอาการ ตั้งแต่แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควบคู่ไปกับการกินยาแก้ปวด และการออกกำลังกายในช่วงที่ยังเป็นไม่มากนัก แต่หากอาการหนักขึ้นมาอีกก็ต้องทำกายภาพบำบัด หากยังไม่หายก็ต้องพิจารณาฉีดยาเข้าช่องประสาทไขสันหลัง หรือทำการผ่าตัดรักษา

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

โรค “เก๊าท์” สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคนี้

เก๊าท์

เป็นโรคข้ออักเสบที่ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน บวม แดงตามข้อต่ออย่างเฉียบพลันเป็นระยะ ๆ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเดียวหรือหลายข้อต่อพร้อมกัน โรคเก๊าท์เกิดจากภาวะกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมอย่างรุนแรง ทั้งนี้ กรดยูริกเปรียบเสมือนของเสียในร่างกายที่เหลือจากการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุลง โดยร่างกายของแต่ละคนจะมีกรดยูริกอยู่ประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 มักได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

อาการของโรคเก๊าท์

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด โดยมักเริ่มจากข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก โรคเก๊าท์ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้อง อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยปวดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวาย

อาการปวดอย่างรุนแรงตามข้อต่อเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้อต่อหลายส่วนตามร่างกายได้ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก หัวเข่า ข้อต่อกระดูกมือ หรือข้อมือ อาการปวดจะรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก จากนั้นจะเริ่มปวดน้อยลงและมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดได้นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น   

  1. ข้อต่อเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อต่อ จนทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นสีแดง บวมแดง และแสบร้อน
  2. เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวกจากภาวะข้อติด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงของโรคที่เพิ่มมากขึ้น
  3. ผิวหนังบริเวณข้อต่อเกิดการลอกหรือคันหลังจากอาการของโรคดีขึ้น

อาการของโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักเป็น ๆ หาย ๆ จนกว่าจะได้รับการรักษา โดยมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนได้บ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น อย่างไรก็ตามควรรีบไปพบแพทย์หากผู้ป่วยมีไข้ ปวดข้ออย่างรุนแรง จนทำให้ผิวหนังบวมแดงและแสบร้อนขึ้น เพราะอาการปวดข้ออาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสัญญาณของโรคข้ออื่น ๆ การปล่อยให้โรคพัฒนารุนแรงขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่อาการปวดอย่างเรื้อรังและสร้างความเสียหายให้กับข้อต่อได้

สาเหตุของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งเป็นภาวะของร่างกายที่มีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่าง ๆ จนเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรงและอาการอื่น ๆ ของโรคตามมา

กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีน (Purines) ในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายและอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตก่อนมีการขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นจากการสร้างของร่างกาย จากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีน มักนำไปสู่ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น  

  1. การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  2. การรับประทานอาหารทีมีสารพิวรีนมากเกินไป เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเคยหรือกะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ สารสกัดจากยีสต์
  3. ได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ
  4. การดื่มน้ำอัดลมเกินปริมาณที่พอดีต่อวัน ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำอัดลมประเภทที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอาจเพิ่มการสะสมกรดยูริกในเลือดได้สูงถึง 85% นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลไม้และน้ำผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก
  5. อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น โรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง หรือความผิดปกติทางเลือดบางอย่าง
  6. ยาบางประเภทที่ส่งผลต่อระดับกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ  ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาแอสไพริน และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  7. โรคประจำตัวหรือสภาวะของร่างกายบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคพร่องเอนไซม์ ความผิดปกติของไขกระดูก โรคหลอดเลือดผิดปกติ
  8. มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย

การรักษาโรคเก๊าท์

แนวทางการรักษาโรคเก๊าท์คือการลดกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลง ซึ่งทำได้โดยการรับประทานยาละลายผลึกกรดยูริกแล้วให้ร่างกายขับออก เมื่อกรดยูริกลดต่ำลงก็จะเกิดการอักเสบน้อยลง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาอาการอักเสบเฉียบพลันแล้ว ยังเป็นการป้องกันการกลับมาสะสมใหม่และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรค รวมถึงการเกิดปุ่มหรือก้อนผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อที่เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus) ซึ่งทำให้ดูไม่สวยงาม

โรคเก๊าท์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาดูจากหลายปัจจัยประกอบในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งอาการของโรค สุขภาพโดยรวม หรือการพูดคุยกับผู้ป่วย ควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค ในบางรายที่ปล่อยให้โรคดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รักษา แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดทดแทนการใช้ยา ซึ่งเป้าหมายของการรักษาจะช่วยในการบรรเทาอาการปวดให้ลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเก๊าท์ในบริเวณข้ออื่น ๆ ในอนาคต รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคเก๊าท์ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนอาจมีส่วนช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะที่นำไปสู่การเกิดนิ่วในไต
  2. หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่พอดี
  3. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล สัตว์ปีก ถั่วบางชนิด สารสกัดจากยีสต์ แต่อาจทดแทนด้วยโปรตีนที่ได้จากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ
  5. ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรอดอาหารหรือลดน้ำหนักรวดเร็วจนเกินไป

การดูแลเพื่อลดอาการปวด ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นได้ด้วยการหยุดเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการปวดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังมีอาการ โดยพยายามยกบริเวณข้อต่อที่ปวดให้อยู่สูง หากมีอาการบวมแดงอาจบรรเทาด้วยการประคบน้ำแข็ง หรือรับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแอสไพริน

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

“อาหารเสริมข้อเข่า” ที่ควรทานสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า

อาหารเสริมข้อเข่า

หากเกิดโรคเกี่ยวกับข้อเข่าแล้ว มันเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์ ผู้ป่วยอาจเลือกรับประทานอาหารบางชนิด เพื่อบำรุงร่างกายและบรรเทาอาการต่าง ๆ จากข้อเข่าเสื่อม เช่น อาการปวด บวม อักเสบ และข้อต่อกระดูกติดขัด รวมทั้งอาจหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้อาการทรุดหนักลง ซึ่งสามารถศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้

อาหารบรรเทาอาการโรคข้อเข่า

แม้อาหารจะไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคหรืออาการใด ๆ โดยตรง แต่อาหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีบรรเทาอาการต่าง ๆ ของข้อเข่า เพราะผู้ป่วยจะได้รับสารอาหารนานาชนิดที่ส่งผลดีต่อร่างกายจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยสารอาหารเหล่านั้นอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดการอักเสบ และช่วยเสริมสร้างข้อกระดูกให้แข็งแรงได้

โดยสารอาหารและตัวอย่างอาหารที่อาจช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

  1. วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงเอ็นข้อต่อ ผู้ป่วยข้ออักเสบควรบริโภควิตามินซีประมาณ 90 มิลลิกรัม/วันในเพศชาย และประมาณ 75 มิลลิกรัม/วันในเพศหญิง ตัวอย่างอาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ส้ม สับปะรด ฝรั่ง บรอกโคลี มะเขือเทศ มะละกอสุก กะหล่ำปลี และดอกกะหล่ำ เป็นต้น
  2. วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างความแข็งแรงขอๆงกระดูก ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนังจากการรับแสงแดด โดยควรรับแสงแดดอ่อน ๆ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดจ้า หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานเกินไป นอกจากนี้ สามารถรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูงได้จากอาหารจำพวกนม ไข่ ปลาซาดีน และอาหารทะเล
  3. สารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) เช่น เควอซิทิน (Quercetin) และแอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidins) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบคล้ายยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน โดยอาหารที่มีไบโอฟลาโวนอยด์ ได้แก่ เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แอปเปิ้ล ชาเขียว หัวหอม และมะเขือเทศ
  4. เบตาแคโรทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยขจัดสารอนุมูลอิสระที่อาจมีส่วนทำลายข้อต่อกระดูกต่าง ๆ โดยอาหารที่มีเบตาแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท แคนตาลูป ใบสะระแหน่ ผักปวยเล้ง และหน่อไม้ฝรั่ง  
  5. กรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดข้อต่อกระดูก และลดอาการข้อติดขัดในตอนเช้า โดยอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาซาดีน ปลาทูน่า และปลาแซลมอน
  6. คอลลาเจนไทพ์ทู (Collagen Type II) หรือคอลลาเจนชนิดที่ 2 คือ โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ซึ่งปัจจุบันมีการสกัดคอลลาเจนจากกระดูกอ่อนอกไก่เพื่อนำมาใช้รักษาอาการปวดข้อต่อที่เกี่ยวกับโรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ โดยอาจมีกลไกที่ช่วยต้านอาการปวดและบวมจากการอักเสบ ทั้งนี้ ยังมีอีกงานวิจัยหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมรับประทานคอลลาเจนที่สกัดมาจากกระดูกอ่อนของอกไก่ อย่างคอลลาเจนไทพ์ทู ลิขสิทธิ์ยูซีทู (UC–II) พบว่าดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการข้อยึดติดได้ โดยมีประสิทธิภาพทางการรักษามากกว่ากลูโคซามีนและคอนดรอยตินทั่วไปเมื่อบริโภคในระยะเวลาที่เท่ากัน
  7. สมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิด เช่น ขิงและขมิ้น อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยลดอาการปวดหรืออาการติดขัดบริเวณข้อต่อกระดูก แต่ขิงอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย และแสบร้อนกลางอกได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคเสมอ
  8. น้ำมันมะกอก อาจนำมาใช้ทดแทนไขมันชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำมันจากเนย เพราะน้ำมันมะกอกปริมาณ 3½ ช้อนโต๊ะ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ใกล้เคียงกับยาไอบูโพรเฟน 200 มิลลิกรัม หรือยาในกลุ่ม NSAIDs ได้ แต่ขณะเดียวกัน น้ำมันชนิดนี้ก็ให้พลังงานสูงถึง 400 แคลอรี่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวได้ ผู้ป่วยจึงควรบริโภคน้ำมันมะกอกในปริมาณที่พอดี
  9. โยเกิร์ต ของหวานยอดฮิตในหมู่สาว ๆ คงหนีไม่พ้นโยเกิร์ต เพราะไม่เพียงแต่มีรสชาติอร่อยถูกปากเท่านั้น แต่การทานโยเกิร์ตสามารถช่วยป้องกันการเกิด โรคกระดูกเสื่อม ได้อีกด้วย เนื่องจากในโยเกิร์ตอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินบี2 วิตามินบี12 ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสซียม วิตามินดี ธาตุแมกนีเซียม เป็นต้น อย่างไรก็ดีผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมักมีระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก ดังนั้นผู้หญิงวัยดังกล่าวควรทานอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมสูง ซึ่งการทานโยเกิร์ตสามารถตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว
  10. ผักตระกูลกะหล่ำ ผักในตระกูลกะหล่ำอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินบี6 โฟเลต ธาตุเหล็ก ธาตุแมงกานีส และธาตุที่จำเป็นต่อการ เสริมสร้างมวลกระดูก ให้แข็งแรงอย่างแมกนีเซียม ฟอสฟอรัสและแคลเซียม อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมที่ช่วยลดความดันโลหิตเช่นกัน
  11. กล้วย กล้วยเป็นหนึ่งในอาหารที่สามารถช่วยป้องกันการเกิด โรคกระดูกเสื่อมข้อเข่าเสื่อม ได้ ซึ่งการทานกล้วยเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรง โดยกล้วยอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ธาตุเหล็ก ธาตุโพแทสเซียม และธาตุแมกนีเซียม ซึ่งช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของโครงสร้างกระดูก อีกทั้งยังช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ และ หลอดเลือดตีบตัน
  12. ถั่วฝัก ถั่วฝักไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และสารต่อต้านอนุมูลอิสระเท่านั้น แต่ยังมีวิตามินดีและธาตุแคลเซียมสูงอีกด้วย โดยเฉพาะถั่วเลนทิลที่ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งสุดยอดถั่วที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกเสื่อมได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ถั่วยังเป็นแหล่งของโฟเลตซึ่งนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของเม็ดเลือดแดงแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยในการ บำรุงรักษากระดูก อีกด้วย
  13. ถั่วอัลมอนด์ ถั่วที่นิยมนำมาเป็นส่วนหนึ่งของขนมหวานอย่าง ถั่วอัลมอนด์ ถูกจัดว่าเป็นแหล่งของแมงกานีส วิตามินอี ไบโอติน คอปเปอร์และไบโอฟลาวิน ซึ่งสารอาหารดังกล่าวมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมวลของกระดูกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ถั่วอัลมอนด์จึงมักถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
  14. ถั่วงอก คุณทราบหรือไม่ว่าถั่วงอกมีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพคุณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์ ไทอามีน คอปเปอร์ เหล็ก แมงกานีส ฟอสฟอรัส วิตามินดี ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วย ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม แถมยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจอีกด้วย

จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่า อาหารบางชนิดมีสรรพคุณช่วยป้องกันการเกิด โรคกระดูกพรุน ดังนั้นหากไม่อยากให้โรคดังกล่าวถามหา คุณก็ควรหมั่นทานอาหารตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือจะลองหาพวก อาหารเสริมบำรุงกระดูก มารับประทานลดความเสี่ยง เพียงเท่านี้โอกาสที่คุณจะเป็นโรคกระดูกพรุนต้องลดลงอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยต้องการบริโภคสารอาหารบางอย่างในรูปแบบอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพราะการบริโภคในปริมาณหรือวิธีการที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้เมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด หรือเมื่อผู้ป่วยกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อยู่

โรคเกี่ยวกับข้อเข่ากับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

แม้การเลือกบริโภคอาหารบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมได้ แต่ยังมีอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะอาจส่งผลให้อาการกำเริบขึ้นได้ ซึ่งอาหารต้องห้ามดังกล่าว ได้แก่

  1. เกลือ หากบริโภคเกลือในปริมาณมาก จะทำให้เซลล์เก็บน้ำไว้มากเกินไปจนร่างกายบวมน้ำ ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรลดการใช้เกลือและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม
  2. น้ำตาล อาจกระทบต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งทำให้การอักเสบทวีความรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก คุกกี้ หรือขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ
  3. แป้งขัดขาว อาจกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และทำให้อาการปวดข้อต่อกระดูกรุนแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว เช่น ขนมปังขาว พาสต้า ซีเรียล ธัญพืชต่าง ๆ ที่ขัดขาว
  4. อาหารทอด เช่น เฟรนช์ฟราย โดนัท เพราะมีไขมันอิ่มตัวปริมาณมาก ซึ่งอาจเพิ่มการอักเสบภายในร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงควรเลือกบริโภคอาหารอบแทนอาหารที่ใช้น้ำมันทอด
  5. เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูง เพราะการปรุงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดสาร AGEs (Advanced Glycation End Products) ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย และอาจเกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ซึ่งสาร AGEs มักอยู่ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยการย่าง ปิ้ง หรือทอด ที่ใช้อุณหภูมิสูง
  6. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะอาจกระตุ้นอาการต่าง ๆ ให้รุนแรงขึ้น และอาจเกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อใช้ร่วมกับยาหรือการรักษาอื่น ๆ ของโรคข้ออักเสบ

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี