Posted on Leave a comment

โรค “เก๊าท์” สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคนี้

เก๊าท์

เป็นโรคข้ออักเสบที่ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน บวม แดงตามข้อต่ออย่างเฉียบพลันเป็นระยะ ๆ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเดียวหรือหลายข้อต่อพร้อมกัน โรคเก๊าท์เกิดจากภาวะกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมอย่างรุนแรง ทั้งนี้ กรดยูริกเปรียบเสมือนของเสียในร่างกายที่เหลือจากการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุลง โดยร่างกายของแต่ละคนจะมีกรดยูริกอยู่ประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 มักได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

อาการของโรคเก๊าท์

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด โดยมักเริ่มจากข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก โรคเก๊าท์ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้อง อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยปวดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวาย

อาการปวดอย่างรุนแรงตามข้อต่อเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้อต่อหลายส่วนตามร่างกายได้ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก หัวเข่า ข้อต่อกระดูกมือ หรือข้อมือ อาการปวดจะรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก จากนั้นจะเริ่มปวดน้อยลงและมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดได้นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น   

  1. ข้อต่อเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อต่อ จนทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นสีแดง บวมแดง และแสบร้อน
  2. เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวกจากภาวะข้อติด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงของโรคที่เพิ่มมากขึ้น
  3. ผิวหนังบริเวณข้อต่อเกิดการลอกหรือคันหลังจากอาการของโรคดีขึ้น

อาการของโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักเป็น ๆ หาย ๆ จนกว่าจะได้รับการรักษา โดยมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนได้บ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น อย่างไรก็ตามควรรีบไปพบแพทย์หากผู้ป่วยมีไข้ ปวดข้ออย่างรุนแรง จนทำให้ผิวหนังบวมแดงและแสบร้อนขึ้น เพราะอาการปวดข้ออาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสัญญาณของโรคข้ออื่น ๆ การปล่อยให้โรคพัฒนารุนแรงขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่อาการปวดอย่างเรื้อรังและสร้างความเสียหายให้กับข้อต่อได้

สาเหตุของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งเป็นภาวะของร่างกายที่มีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่าง ๆ จนเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรงและอาการอื่น ๆ ของโรคตามมา

กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีน (Purines) ในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายและอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตก่อนมีการขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นจากการสร้างของร่างกาย จากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีน มักนำไปสู่ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น  

  1. การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  2. การรับประทานอาหารทีมีสารพิวรีนมากเกินไป เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเคยหรือกะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ สารสกัดจากยีสต์
  3. ได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ
  4. การดื่มน้ำอัดลมเกินปริมาณที่พอดีต่อวัน ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำอัดลมประเภทที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอาจเพิ่มการสะสมกรดยูริกในเลือดได้สูงถึง 85% นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลไม้และน้ำผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก
  5. อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น โรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง หรือความผิดปกติทางเลือดบางอย่าง
  6. ยาบางประเภทที่ส่งผลต่อระดับกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ  ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาแอสไพริน และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  7. โรคประจำตัวหรือสภาวะของร่างกายบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคพร่องเอนไซม์ ความผิดปกติของไขกระดูก โรคหลอดเลือดผิดปกติ
  8. มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย

การรักษาโรคเก๊าท์

แนวทางการรักษาโรคเก๊าท์คือการลดกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลง ซึ่งทำได้โดยการรับประทานยาละลายผลึกกรดยูริกแล้วให้ร่างกายขับออก เมื่อกรดยูริกลดต่ำลงก็จะเกิดการอักเสบน้อยลง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาอาการอักเสบเฉียบพลันแล้ว ยังเป็นการป้องกันการกลับมาสะสมใหม่และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรค รวมถึงการเกิดปุ่มหรือก้อนผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อที่เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus) ซึ่งทำให้ดูไม่สวยงาม

โรคเก๊าท์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาดูจากหลายปัจจัยประกอบในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งอาการของโรค สุขภาพโดยรวม หรือการพูดคุยกับผู้ป่วย ควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค ในบางรายที่ปล่อยให้โรคดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รักษา แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดทดแทนการใช้ยา ซึ่งเป้าหมายของการรักษาจะช่วยในการบรรเทาอาการปวดให้ลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเก๊าท์ในบริเวณข้ออื่น ๆ ในอนาคต รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคเก๊าท์ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนอาจมีส่วนช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะที่นำไปสู่การเกิดนิ่วในไต
  2. หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่พอดี
  3. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล สัตว์ปีก ถั่วบางชนิด สารสกัดจากยีสต์ แต่อาจทดแทนด้วยโปรตีนที่ได้จากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ
  5. ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรอดอาหารหรือลดน้ำหนักรวดเร็วจนเกินไป

การดูแลเพื่อลดอาการปวด ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นได้ด้วยการหยุดเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการปวดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังมีอาการ โดยพยายามยกบริเวณข้อต่อที่ปวดให้อยู่สูง หากมีอาการบวมแดงอาจบรรเทาด้วยการประคบน้ำแข็ง หรือรับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแอสไพริน

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี