Posted on Leave a comment

ไขข้อเข่าอักเสบ อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นโรคเรื้อรังได้!

ไขข้อเข่าอักเสบ

โรคไขข้ออักเสบชนิดต่างๆ

โรคไขข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่านิ่งนอนใจ อาจะเป็นโรคเรื้อรังได้ ซึ่งส่วนมากอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้ ทาง Arukou ได้รวบรวมข้อมูล โดยโรคไขข้ออักเสบที่พบได้บ่อยมีดังนี้

ข้อเข่าอักเสบ

โรคข้อเข่าเสื่อม 

โรคข้อเสื่อม คือหนึ่งในโรคของกลุ่มโรคไขข้ออักเสบที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่ปลายกระดูกซึ่งเป็นส่วนของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อบริเวณ เข่า มือ เอว และกระดูกสันหลัง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับข้อเข่า อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวเข่าหรือเมื่อใช้แรงกดลงไปบริเวณเข่า ขยับเข่าได้ลำบาก บางครั้งอาจคลำได้ก้อนแข็ง หรือที่เรียกว่าหินปูนเกาะกระดูก (Bone Spurs) บริเวณข้อเข่า โรคข้อเสื่อมมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนั้น อายุที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน

โรคข้ออักเสบติดเชื้อ

โรคข้ออักเสบติดเชื้อ คือการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ อาจเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือดซึ่งมาจากส่วนอื่นของร่างกาย หรือเกิดจากเชื้อโรคที่เข้ามาทางบาดแผลบริเวณข้อต่อโดยตรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามข้อต่อส่วนต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักพบในข้อเข่าเป็นหลัก โดยการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อบวม แดง รู้สึกร้อน ผู้ป่วยใช้งานข้อต่อที่ติดเชื้อได้ลำบากและอาจมีไข้

โรคข้อรูมาตอยด์

เป็นการอักเสบชนิดเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นตามข้อต่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นในข้อต่อข้างใดข้างหนึ่ง มักพบว่าข้อต่ออีกข้างเกิดการอักเสบด้วยเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบคุ้มกัน เมื่อเม็ดเลือดขาวเลือกทำลายเยื่อบุผิวข้อต่อแทนที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย (Autoimmune Disease) เยื่อบุผิวข้อต่อที่ถูกทำลายจะเกิดการอักเสบและมีลักษณะหนาขึ้น จนไปทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนภายในข้อต่อ อีกทั้งยังส่งผลให้เส้นเอ็นภายในข้อต่ออ่อนแอ ทำให้ข้อต่อผิดรูปร่าง อาการทั่วไป คือ รู้สึกเจ็บและร้อนที่ข้อต่อ ข้อต่อบวม มีอาการข้อติด โดยเฉพาะในช่วงเช้า รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ และน้ำหนักลดลง โดยในระยะแรก มักเกิดกับข้อต่อขนาดเล็ก เช่น ข้อต่อนิ้วมือ นิ้วเท้า และขยายไปยังข้อต่อส่วนอื่นในร่างกาย เช่น เข่า สะโพก เอว ไหล่ ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลไปถึงอวัยวะอื่นด้วย เช่น ตา ปอด หัวใจ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ออกมายืนยันถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองและส่งผลให้เกิดโรคข้อรูมาตอยด์ แต่พบว่าพันธุกรรม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบของผู้ป่วยอาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

โรคเกาท์ 

คือโรคไขข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตกรดยูริคในปริมาณที่มากเกินหรือไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ปกติ ทำให้กรดยูริคเกิดการสะสมกลายเป็นผลึกเล็ก ๆ ซึ่งส่วนมากจะเกิดภายในช่องข้อต่อ ส่งผลให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ และรู้สึกเจ็บรุนแรงบริเวณข้อต่อ ข้อต่อแดงและบวม  เกิดขึ้นในข้อต่อเกือบทุกส่วนในร่างกาย และหลายจุดพร้อมกัน ส่วนใหญ่มักเกิดเกาท์ที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า เข่า

โรคเกาท์เทียม 

มีสาเหตุการเกิดคล้ายกับโรคเกาท์ แต่แตกต่างกันที่ชนิดของสารต้นกำเนิดผลึก โดยเกาท์เทียมเกิดจากสารแคลเซียมไพโรฟอสเฟสไดไฮเดรต (CPPD) ถูกสะสมและเกิดเป็นผลึกเล็ก ๆ ในช่องข้อต่อ ผลึก CPPD จะทำให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่เข่า อาการของโรคเกาท์เทียมโดยทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บบริเวณข้อต่อที่อักเสบ ข้อต่อบวม มีน้ำในข้อต่อ ข้อต่ออักเสบเรื้อรัง

ความผิดปกติอื่นที่เกิดขึ้นได้ เช่น

กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า

คืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณเข่าด้านหน้ารอบกระดูกสะบ้า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะกลุ่มที่กระดูกสะบ้าเคลื่อน และนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังวิ่งหรือกระโดด ในบางครั้งจึงเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Runner’s Knee อาการทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านหน้าเข่า โดยอาการมักกำเริบเมื่อ ขึ้นหรือลงบันได นั่งคุกเข่าหรืองอเข่าเป็นระยะเวลานาน

เจ็บเข่ามีโอกาสเกิดได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเข่าได้ ดังนี้

การเล่นกีฬาบางชนิด การเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องวิ่ง หรือกระโดดอยู่เสมอ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล อาจไปเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เล่นเกิดอาการเจ็บเข่า

น้ำหนักมากเกินมาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือมีโรคอ้วน มักเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกอักเสบ เนื่องจากแรงกดบนเข่าจากน้ำหนักตัวของร่ายกาย จากกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น การเดิน การวิ่ง การขึ้นหรือลงบันได

กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรง หากกล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงที่มากระทำ จะส่งผลให้ข้อต่อต้องรับแรงโดยตรงและเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ

อาการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้น ผู้ที่เคยบาดเจ็บบริเวณเข่ามาก่อน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บอีกครั้งมากกว่าคนที่ไม่เคยบาดเจ็บมาก่อน


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี