Posted on Leave a comment

“ยาแก้ปวดเข่า” ต่างๆ ที่คุณควรทราบ

ยาแก้ปวดเข่า คือ

อาการปวดข้อเป็นอาการของโรคข้อซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อใหญ่ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมากหรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า  โรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมัน กลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดและเสียไป การเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการใช้ยาแก้ปวด และปรับพฤติกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของข้อ

ยาแก้ปวดที่ใช้ได้แก่ แอสไพริน พาราเซตามอล และยากลุ่มที่มีฤทธิ์แก้ปวดแก้อักเสบซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแนค (diclofenac), เซเลคอกซิบ (celecoxib) ยาเหล่านี้ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เพราะยามีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น  โอมีพราโซล (omeprazole), แพนโตพราโซล (pantoprazole), ราบีพราโซล (rabeprazole) ร่วมไปด้วยเพื่อเป็นการป้องกันฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหารที่ไม่พึงประสงค์ ยาที่ใช้ป้องกันนี้ต้องกลืนทั้งเม็ดขณะท้องว่าง นั่นคือต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30นาที ถึง 1 ชั่วโมง และรับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบหลังอาหารทันที

ปัจจุบันมียาที่มีฤทธิ์คล้ายเป็นอาหารสำหรับกระดูกอ่อน คือ กลูโคซามีน (glucosamine) ยานี้มีทั้งที่เป็นผงละลายน้ำก่อนดื่ม และที่เป็นแคปซูล ต้องรับประทานยานี้ตอนท้องว่าง และเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ปีจึงจะเห็นผล คือจะมีอาการปวดข้อน้อยลง ผู้ที่แพ้อาหารทะเลต้องระวังการใช้กลูโคซามีนเพราะอาจเกิดอาการแพ้กลูโคซามีนได้

นอกจากยาแก้ปวดแล้ว ผู้ป่วยควรลดน้ำหนัก เพราะการมีน้ำหนักมากเกิน ข้อจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และมีผลทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ การนั่งท่ายอง การคุกเข่า การวิ่งจ๊อกกิ้ง การยกของหนัก อย่างไรก็ตามควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายที่ทำได้คือ การว่ายน้ำ การถีบจักรยาน การยกหรือขยับข้อเข่าหรือข้อสะโพกเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกวัน

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมแบ่งกว้าง ๆ ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวด และยาลดอาการปวดแบบออกฤทธิ์ช้า

ยาข้อเข่า

1. กลุ่มยาแก้ปวด

 ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการปวด แต่เป็นการลดปวดชนิดที่ไม่ได้ช่วยซ่อมแซมโครงสร้างของข้อ ควรใช้เพียงแค่บางครั้งคราวเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน ปวดข้อเท้าพลิก รักษาอาการปวดได้ แต่ไม่ได้ชะลอการเสื่อมของข้อ

ยาในกลุ่มนี้ได้แก่

  • ยาพาราเซตามอล ลดอาการปวดได้ แต่ได้เฉพาะอาการที่ไม่รุนแรงโดยทั่วไป เป็นยาที่ไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และไม่มีผลต่อการทำงานของไต ไม่ควรใช้เกินวันละ 4 กรัม
  • ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซ็น ยาไดโคลฟีแนค ทำให้ลดอาการบวม ลดอาการปวดและขัด ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีในการลดอาการปวดและการอักเสบ ควรกินในช่วงที่มีอาการมาก เช่น ข้อบวมอักเสบ แต่ไม่ควรกินติดต่อในระยะยาวเพราะจะมีผลข้างเคียง คือ มีเลือดออกและเป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีผลต่อการทำงานของตับและไต ทำให้เลือดออกง่าย และอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้นควรใช้ยาประเภทนี้เฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น
  • ยาลดอาการปวดที่เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน จะใช้เฉพาะในรายที่มีอาการปวดมากเท่านั้น ยาในกลุ่มนี้ทำให้ง่วงซึมและคลื่นไส้ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการติดยาอีกด้วย ยาประเภทนี้คนอยู่ในการควบคุมของแพทย์
  • ยานวดเฉพาะที่ เช่น ยานวดที่เป็นยากลุ่มต้านการอักเสบ ยาที่สกัดจากพริกไทย เป็นต้น ช่วยลดอาการปวดได้เฉพาะที่ในระยะสั้น แต่อาจจะทำให้มีการแสบร้อนหรือระคายเคืองผิวหนังได้
  • การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เข้าข้อในระยะที่ข้ออักเสบมาก ๆ โดยเฉพาะข้อเข่า เมื่อมีการอักเสบมากๆ ภายในข้อจะมีน้ำอักเสบจำนวนมากตามไปด้วย ทำให้ปวดขัดและตึงในข้อ แพทย์จึงจำเป็นต้องดูดน้ำอักเสบเหล่านี้ออกจากข้อ และฉีด สเตียรอยด์เข้าข้อเพื่อระงับอาการอักเสบและลดความเจ็บปวด

2. ยาลดอาการปวดแบบออกฤทธิ์ช้า

ในทางการแพทย์เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า SYSADOA (symptomatic slow-acting drugh for osteoarthritis) ยากลุ่มนี้ช่วยลดอาการอักเสบในข้อ รวมถึงบางตัวมีข้อมูลว่า มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำลายกระดูกอ่อน หรือกระตุ้นการซ่อมแซมกระดูกอ่อนส่วนที่เสื่อมได้ ปัญหาการใช้ยากลุ่มนี้คือ ราคายาค่อนข้างแพง และต้องใช้ระยะยาวราว 3- 6 สัปดาห์กว่าจะออกฤทธิ์ และไม่ใช่ยาแก้ปวดโดยตรง จึงนำไปใช้รักษาอาการปวดอย่างอื่นไม่ได้

นอกจากนี้ผลการรักษายังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เช่น ยังมีปัญหาว่าการศึกษาที่ทำแล้วพบว่ายาได้ผลดีนั้นได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตยานั้นๆ แต่หากเป็นการศึกษาที่ทำโดยบริษัทอื่นอื่นๆ ยาชนิดนั้นกลับไม่ได้ผลดี นั่นจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงสาเหตุของผลการศึกษาที่แตกต่างว่าเป็นที่ “ตัวยา” หรือเป็นที่ “งานวิจัย” ที่ให้ผลการศึกษาแตกต่างกัน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในระยะยาว

ยาในกลุ่มนี้มีทั้งรูปแบบฉีดและกิน

  • กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate)เชื่อว่ามีผลกระตุ้นกระดูกอ่อนให้สร้างสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกอ่อน พบว่ายาชนิดนี้มีใช้กันมากในประเทศแถบยุโรป แต่ทางสหรัฐอเมริกายังถือเป็นกลุ่มอาหารเสริม รายงานการศึกษาว่า หลังผู้ป่วยได้รับยาชนิดนี้เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ในขนาดวันละ 1,500 มิลลิกรัม เมื่อติดตามผลทางภาพเอกซเรย์พบว่ากระดูกอ่อนไม่บางลง แต่สำหรับผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากอาจต้องระวังการใช้ยาชนิดนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีการทดลองฉีดกลูโคซามีนขนาดสูงเข้าหลอดเลือดในสัตว์ทดลอง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ยังไม่พบรายการว่าเกิดจากการกินยาชนิดนี้ ส่วนผู้ที่แพ้อาหารทะเลอาจแพ้ยากลุ่มนี้ได้ เพราะผลิตจาก ไคติน (chitin)ที่ได้จากเปลือกปูและหอยนางรม
  • คอนดรอยติน (Chondroitin)บางครั้งผสมมากับกลูโคซามีนในลักษณะของอาหารเสริม มีแหล่งผลิตแตกต่างกันไป ทำให้ผลการรักษาต่างกันได้ ข้อพึงระวังคือ คอนดรอยตินมีลักษณะโมเลกุลคล้ายเฮปาริน (heparin) จึงควรระวังการใช้ในผู้ที่ใช้แอสไพริน เพราะอาจมีปัญหาการแข็งตัวของเลือด ปัญหาเลือดหยุดยากได้ บางครั้งคอนดรอยตินก็ผลิตจากเนื้อวัว จึงอาจมีปัญหากับผู้ที่เคร่งครัดกับหลักศาสนาบางศาสนาได้ ข้อเสียของยากลุ่มนี้คือ ต้องกินเป็นเวลานานและราคาสูง
  • ยาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเพื่อฟื้นฟูและบำรุงข้อ ถือเป็นวิวัฒนาการการรักษาชนิดใหม่ของข้อเข่าเสื่อม ด้วยการฉีดสารที่มีโมเลกุล มีความหนักและมีความเหนียวใกล้เคียงสารน้ำหล่อลื่นในเข่า เข้าไปในเข่าเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในเขาที่เสื่อม เพราะในข้อที่เสื่อมนั้นน้ำเลี้ยงข้อเข่ามักจะเสื่อมสภาพด้วย การเติมสารเหล่านี้เข้าไปจะช่วยหล่อเลี้ยงข้อเข่าให้เคลื่อนไหวดีขึ้นได้ ผู้ป่วยบางคนที่มาให้หมอดูแลมักเรียกวิธีการนี้ว่า “ฉีดจาระบีเข้าเข่า”การใช้ยาชนิดนี้อาจชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าออกไปได้

ปัจจุบันผลการรักษายังไม่ชัดเจน โดยบางการศึกษาก็บอกว่าช่วยลดอาการปวดได้มากกว่ายาหลอก บางการศึกษาบอกว่าไม่ได้ลดอาการปวดมากกว่าอย่าหลอก แต่ไม่มีการศึกษาใด ๆ เลยที่บอกว่าสามารถชะลอการเสื่อมของข้อได้จริง

อย่างไรก็ดี พึงระลึกไว้ว่า เครื่องรถยนต์ที่เสื่อมสภาพแล้ว ถ้าจะใช้น้ำมันเครื่องวิเศษอย่างไร ผิวของเครื่องยนต์ก็ยังอยู่ในสภาพเดิม หมอจึงอยากให้ใช้ความระมัดระวังในการรักษา และหยุดคิดสักนิดว่า ของแพงหรือของใหม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป

ปัจจุบันน้ำเลี้ยงข้อเทียมที่มีขายในเมืองไทยมีหลายชนิด แต่ราคาค่อนข้างสูงถึงสูงมาก ถ้าเป็นชนิดดีๆ ราคาอาจสูงถึงเข็มละ 4,000 – 6,000 บาท และต้องฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียมสัปดาห์ละครั้ง การฉีดจำนวน 3 – 5 ครั้งจะบรรเทาอาการได้ประมาณ 6 – 12 เดือน ถ้าในช่วงนี้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเต็มที่ เช่น บริหารสร้างความเข้มแข็งให้กล้ามเนื้อรอบรอบ ๆ ข้อ ลดน้ำหนักเพื่อลดแรงที่กดลงไปยังข้อ ผู้ป่วยบางรายที่ฟื้นฟูสภาพเขาได้ การรักษาวิธีนี้ก็จะคุ้มค่ามาก เพราะอาการต่าง ๆ ดีขึ้นจนไม่จำเป็นต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมอีก

  • ยาอื่น ๆ ที่นำมาใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ได้แก่ ยาไดอาเซอรีน (Diacerein) สารสกัดจากผลอะโวคาโดและถั่วเหลือง (Avocado / Soybean Unsaponifiable)

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี