Posted on Leave a comment

สิ่งที่ควรรู้ก่อน “ผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม”

ผ่าตัดข้อเข่าเทียม

เข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ประกอบด้วยส่วนกระดูก 3 ชิ้น คือ ส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur)   ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และกระดูกสะบ้าหัวเข่า (Patella) โดยมีเอ็นยึดกระดูกทั้ง 3 ไว้ให้มั่นคง และมีกล้ามเนื้อเกาะตามกระดูกเพื่อความเคลื่อนไหว บริเวณผิวของกระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะคลุมด้วยกระดูกอ่อน (Articular Cartilage) ซึ่งมีลักษณะสีขาวมันเรียบ กระดูกอ่อนจะทำหน้าที่เป็นเบาะกันการกระแทกกันของกระดูก และผิวที่เรียบทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ส่วนที่เหลือของข้อเข่าที่ไม่ได้คลุมด้วยกระดูกอ่อนจะถูกคลุมด้วยเยื่อหุ้มข้อ (Synovial Membrane) ซึ่งมีลักษณะบางและเรียบทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยงข้อจะช่วยหล่อลื่นบริเวณผิว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม หรือที่เรียกกันว่าการเปลี่ยนสะบ้าเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ผิวข้อสึกหรอไปมากและไม่สามารถประสบความสำเร็จโดยวิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาหรือการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะทำผ่าตัดโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพแล้วออก หลังจากนั้นจะนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำมาจากโลหะและโพลิเอทธีลีนที่ได้รับการออกแบบมา เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะมาใส่แทนที่โดยยึดด้วยซีเมนต์พิเศษแล้วจัดแกนขาที่ผิดรูปให้กลับมาตรงดังเดิม ทำให้ภายหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและลงน้ำหนักได้เป็นธรรมชาติและปราศจากความเจ็บปวด

ข้อเข่าเทียม มีส่วนประกอบด้วยกัน 4 ส่วนได้แก่

1. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง (femoral component) เป็นโลหะผิวเรียบที่ยึดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระดูกอ่อนผิวข้อ
2. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน (tibial component) เป็นโลหะที่ยึดติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน ทำหน้าที่เป็นแป้นรองรับหมอนรองกระดูกเทียมอีกทีหนึ่ง
3. หมอนรองกระดูกเทียม (polyethylene) อยู่ระหว่างโลหะสองชิ้นข้างต้น ทำหน้าที่รับและกระจายน้ำหนัก
4. ผิวลูกสะบ้าเทียม (patellar component)

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมมีหลายชนิดและหลายวิธี จึงจำเป็นจะต้องเลือกให้มีความเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละราย ข้อดีและข้อเสียก็แตกต่างกันไป

เมื่อไรที่ควรผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมจัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสามารถทำให้คนไข้หายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถเดินได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติและเดินได้ไกลมากขึ้น สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือท่องเที่ยวได้ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น ข้อเข่าเทียมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 20-25 ปีแล้วจะเริ่มสึกหรอ แพทย์จึงมักพิจารณาผ่าตัดเฉพาะคนไข้ที่มีอายุค่อนข้างมากแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในคนไข้ที่อายุน้อยซึ่งยังมีการเคลื่อนไหวและใช้ข้อมาก จะทำให้ข้อเข่าเทียมมีการสึกหรอเร็วและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนซ้ำอีกครั้งอาจจะไม่ให้ผลการรักษาที่ดีเหมือนครั้งแรก ดังนั้นแพทย์จะเลือกทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในคนไข้ที่รักษาโดยวิธีการรับประทานยาและการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยแพทย์และคนไข้จะประเมินอาการร่วมกันเพื่อตัดสินใจในการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่เหมาะสมจะผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อมในระยะสุดท้าย
  • ผู้ป่วยที่ต้องทานยาแก้ปวดต่อเนื่องกันทุกวัน
  • อาการปวดมากจนไปรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน
  • เมื่อรักษาโดยวิธีอื่นทั้งหมดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
  • ปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง
  • ปวดเข่าเวลาพัก เช่น ปวดเวลานอน
  • มีการอักเสบบวมแดงของเข่า โดยมีอาการบ่อยและเรื้อรัง
  • มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน
  • ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก
  • ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการใช้งาน ยาทาน หรือการฉีดยาเข้าในเข่าไม่ได้ผล

ส่วนใหญ่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะทำในผู้ป่วยอายุ 60 – 80 ปี การพิจารณาผ่าตัดจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค

ข้อเข่าเทียมมีกี่ชนิด

ข้อเข่าเทียมมีกี่ชนิด

ผู้ป่วยแต่ละคนมีความรุนแรงของภาวะข้อเข่าเสื่อมมากน้อยแตกต่างกันไป ข้อเข่าเทียมเองก็มีการออกแบบมาหลายชนิดแตกต่างกันเพื่อใช้ทดแทนผิวข้อที่มีการสึกหรอในแบบที่ไม่เหมือนกัน ข้อเข่าเทียมแบ่งกว้างๆได้เป็นสองประเภทใหญ่ ได้แก่

1.ข้อเข่าเทียมแบบเปลี่ยนผิวข้อเฉพาะบางส่วน ซึ่งยังแบ่งได้อีก 2 แบบ

  • ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว (Unicompartmental Knee Arthroplasty) ใช้ทดแทนผิวข้อที่สึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งของผิวข้อ ที่พบมากคือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าทางด้านในเพียงด้านเดียวและแกนขาไม่โก่งมาก แพทย์จะนำเอาผิวกระดูกที่เสื่อมสภาพเพียงบางส่วนนั้นออกไป แล้วใช้ข้อเข่าเทียมชนิดซีกเดียวเปลี่ยนให้
  • ข้อเข่าเทียมแบบสองซีก (Bicompartmental Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้เปลี่ยนผิวข้อทางด้านในและลูกสะบ้า เหมาะจะใช้ในคนไข้ที่มีผิวข้อเสื่อมทางด้านในและผิวลูกสะบ้าสึกหรอ มีแกนขาโก่งไม่มาก และผิวข้อทางด้านนอกปกติดี

2. ข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ (Total Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมมากๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าทั่วทั้งเข่าและแกนขาผิดรูปมาก แพทย์จะนำผิวข้อที่เสื่อมแล้วออกทั้งหมด แล้วทดแทนด้วยข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ

ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ถ้าผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรือจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้ามีความเสียหายรุนแรงขึ้นจะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน การรักษาอาจเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งานของเข่า ยาลดการอักเสบ หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ซึ่งเป็นการผ่าตัดตัดผิวที่เสียหายออกใส่ผิวใหม่ที่เรียบมันซึ่งทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน เพื่อให้เข่ากลับไปใช้งานได้ตามเดิมอีกครั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเริ่มมีการผ่าตัดครั้งแรกในปี 1968 หลังจากนั้นการผ่าตัดนี้ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านวัสดุที่ใช้และวิธีการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดให้ผลดีขึ้น

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี